งานชิ้นที่ 1 ให้นักศึกษาศึกษาข้อมูลจากสถานศึกษา
ชื่อหน่วยงาน โรงเรียนบ้านหัวหิน
สถานที่ตั้ง หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตรัง เขต 2
ชื่อเรื่อง การจัดการนวัตกรรมและระบบสารสนเทศสำหรับสถานศึกษา
แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศของสถานศึกษา
แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการนวัตกรรม
นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการศึกษาหลายประการ ทั้งนี้เนื่องจากในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ Globalization มีการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิม เพื่อให้ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอีกทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษาบางอย่างที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกันการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเกี่ยวนวัตกรรมการศึกษาที่จะนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษาในบางเรื่อง เช่น ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับจำนวนผู้เรียนที่มากขึ้นการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย การผลิตและพัฒนาสื่อใหม่ ๆขึ้นมาเพื่อตอบสนองการเรียนรู้ของมนุษย์ให้เพิ่มมากขึ้นด้วยระยะเวลาที่สั้นลงการใช้นวัตกรรมมาประยุกต์ในระบบการบริหารจัดการด้านการศึกษาก็มีส่วนช่วยให้การใช้ทรัพยากรการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง กล่าวโดยสรุปนวัตกรรมการศึกษาเกิดขึ้นตามสาเหตุใหม่ ๆ ดังต่อไปนี้
1. การเพิ่มปริมาณของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้นักเทคโนโลยีการศึกษาต้องหานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อให้สามารถสอนนักเรียนได้มากขึ้น
2. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว การเรียนการสอนจึงต้องตอบสนองการเรียนการสอบแบบใหม่ ๆที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เร็วและเรียนรู้ได้มากในเวลาจำกัดนักเทคโนโลยีการศึกษาจึงต้องค้นหานวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้
3. การเรียนรู้ของผุ้เรียนมีแนวโน้มในการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้นตามแนวปรัชญาสมัยใหม่ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการศึกษาสามารถช่วยตอบสนองการเรียนรู้ตามอัตภาพ ตามความสามารถของแต่ละคน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน Computer Assisted Instruction หรือ CAI การเรียนแบบศูนย์การเรียน เป็นต้น
4. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีโทรคมนาคมมีส่วนผลักดันให้มีการใช้นวัตกรรมการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เช่นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทำให้คอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลง แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดการสื่อสารไร้พรมแดนนักเทคโนโลยีการศึกษาจึงคิดค้นหาวิธีการใหม่ ๆในการประยุกต์ใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นฐานในการเรียนรู้ที่เรียกว่า "Web-based learning" ทำให้สามารถเรียนรู้ในทุกที่ทุกเวลาสำหรับทุกคน (Any where,Any time for Everyone)การใช้คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเป็นไปอย่างกว้างขวางในวงการศึกษาคอมพิวเตอร์มิใช่เพียงแต่สิ่งอำนวยความสะดวกในสำนักงานเท่านั้นแต่ยังใช้เป็นสื่อหรือเป็นเครื่องมือสร้างสื่อได้อย่างสวยงามเหมือนจริง และรวดเร็วมากกว่าก่อนนักเทคโนโลยีการศึกษาจึงศึกษาวิจัยบทบาทของนวัตกรรมทางด้านการผลิตและการใช้สื่อใหม่ ๆตามศักยภาพของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มมากขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์กราฟิก ระบบมัลติมีเดียวีดีโอออนดีมานด์ (Video-on-Demand) การประชุมทางไกล Teleconference) อี-เลินนิ่ง (e-learning) อี-เอ็ดดูเคชั่น (e-Education) เป็นต้น
การนำนวัตกรรมไปใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
1.ด้านบริหารจัดการศึกษา ช่วยในการจัดเก็บข้อมูลของนักเรียน บุคลากร การบริหารงานทั้ง 4 งานให้เป็นปัจจุบันและประมวลผลให้เป็นสารสนเทศที่พร้อมใช้ประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารโรงเรียนในการวางแผนพัฒนาการจัดการศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป
2.ด้านการวิจัย การนำนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนเป็นการทำวิจัยที่อยู่ใกล้ตัวครูมากที่สุด เป็นการทำวิจัยปฏิบัติการ (action reserch) ที่ครูลงมือปฏิบัติเพื่อเกิดผลบวกกับนักเรียนเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางแก้ไขต่อไป นอกจากนั้นโปรแกรมต่างๆก็ยังช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการวิจัยของครูอีกด้วย
3.การเรียนการสอน โดยใช้ CAI,E-learning เป็นการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนทำให้เรียนสนใจและตื่นเต้นกับบทเรียนนั้น ๆ และเป็นการเรียนรู้ที่เป็นไปตามความพร้อมความสามารถของผู้เรียน
4. ด้านบริการสังคม สารสนเทศที่ใหม่ ทันสมัย เป็นสิ่งที่คอยอำนวยความสะดวกในการนำข้อมูล สถิติด้านต่าง ๆที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้บริการสังคมได้อย่างมั่นใจ สามารถนำมาประกอบการให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่สังคมได้ด้วยทั้งนี้ นวัตกรรมและสารสนเทศจะมีบทบาทมากน้อยเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะยอมรับนวัตกรรมนั้นๆแค่ใหน ถ้าหากลักษณะของบุคลากรในโรงเรียนยอมรับมาก ก็จะมีบทบาทมากแต่ถ้าบุคลากรในโรงเรียนเป็นกลุ่มที่ล้าหลัง ไม่ค่อยยอมรับนวัตกรรมใหม่ ๆ มันก็จะไม่มีบทบาทอะไรเลย
แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการระบบสารสนเทศของสถานศึกษา
ระบบสารสนเทศของสถานศึกษา คือระบบสารสนเทศที่ใช้ในการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในสถานศึกษา โดยการจัดเก็บข้อมูลเชิงรายการและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีโปรแกรมในการการประมวลผล ผลลัพธ์ที่ได้เป็นรายงานที่ใช้ในการจัดการ ได้แก่
1) ระบบสารสนเทศพื้นฐานของสถานศึกษา ประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพของสถานศึกษา สภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ความต้องการของชุมชน สภาพการบริหารและแนวทางการจัดการศึกษาตามโครงสร้างและภารกิจ เช่น ข้อมูลทั่วไปของสถานศึกษา ศักยภาพของสถานศึกษา ความต้องการของชุมชน แนวโน้มการพัฒนาท้องถิ่น แนวทางการจัดการศึกษา การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษา
2) ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับผู้เรียน ประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศเกี่ยวกับผู้เรียนทั้งหมด เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน ผลงานและการแสดงออกของผู้เรียน รูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน
3) ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานวิชาการ ประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศเกี่ยวกับหลักสูตรและการเรียนการสอน การวัดผลและการประเมินผลการเรียน การพัฒนากิจกรรมแนะแนว การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การวิจัยในชั้นเรียน
4) ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับสภาพการบริหารและการจัดการ สภาพและบรรยากาศการเรียนรู้ ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาวิชาชีพ สุขภาพอนามัย การจัดการแหล่งเรียนรู้ การพัฒนาวิชาชีพ ความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครองและชุมชน
องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ
ระบบสารสนเทศไม่ได้เพียงหมายความถึงเพียงระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่การใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้บริหารจำเป็นต้องเข้าใจองค์ประกอบของระบบ 3 ด้าน ได้แก่ ข้อมูลสารสนเทศ องค์การและการจัดการ รวมทั้งเทคโนโลยีและอุปกรณ์ด้วย
1. ข้อมูลสารสนเทศ ได้แก่
1.1 ข้อมูลรายละเอียด ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการระดับย่อย ระเบียบข้อบังคับ ต่างๆ เช่น การจัดซื้อหนังสือ ตำรา วารสาร เป็นต้น
1.2 ข้อมูลสรุป ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลดิบมาวิเคราะห์สังเคราะห์ เพื่อดูแนวโน้มทิศทาง เช่น วารสารบางฉบับมีปัญหาไม่มีความเคลื่อนไหว ยืม-คืน ผู้บริหารจะต้องหาทางแก้ไขจัดการ
1.3 ข้อมูลพิเศษ เช่นการรายข้อมูลเฉพาะที่ต้องการ อาจเป็นการรายงานการยืม-คืน หนังสือ ความต้องการในการใช้วารสารของผู้ใช้บริการ หนังสือ ตำรา หรือวารสารที่มีความถี่ในการใช้งาน ต่ำหรือสูง
2. องค์กรและการบริหารจัดการ โดยทั่วต้องประกอบด้วยบุคลากร โครงสร้างการบริหารงานองค์กร เพื่อแบ่งแยกหน้าที่ที่ชัดเจนตามภาระงานต่างๆ เช่น ฝ่ายการเงิน ฝ่ายพัสดุ ฝ่ายบุคคล ฝ่ายบริการ ฝ่ายผลิต ฝ่ายซ่อมบำรุง เป็นต้น โดยอาศัยโครงสร้างเป็นแกนกลางในการปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอนสายงาน
3. เทคโนโลยีและอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อการจัดการ ซึ่งรวมถึง ซอฟท์แวร์โปรแกรม ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ระบบเครือข่ายและการสื่อสาร ที่เชื่อมโยงระบบเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
วิสัยทัศน์
บูรณาการเทคโนโลยีอย่างมีระบบ ครบถ้วนก้าวล้ำนวัตกรรม นำสู่ระบบดีโรงเรียนมีคุณภาพ
ยุทธศาสตร์
ปฏิรูปการบริหารจัดการและการเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้สื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้การดำเนินงานการจัดการศึกษาของโรงเรียนบรรลุตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
บริบทของสถานศึกษา
สภาพทั่วไป
โรงเรียนบ้านหัวหิน ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตรัง เขต 2 โรงเรียนบ้านหัวหิน มีพื้นที่ทั้งสิ้น 7 ไร่ 27 ตารางวา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ประวัติสถานศึกษา
โรงเรียนบ้านหัวหินจัดตั้งขึ้นเนื่องจากเด็กในท้องถิ่นต้องเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนบ้านพรุจูด และโรงเรียนบ้านดุหุน ซึ่งเป็นระยะทางไกล และต้องข้ามแม่น้ำทำให้ลำบากมาก จึงได้มีบุคคลคนหนึ่ง คือ นายเกลื่อม ดำมีศรี ได้ชวนสมัครพรรคพวกจัดสร้างโรงเรียนขึ้น ณ ที่นี้ ซึ่งเป็นที่ดินป่าช้าเก่า และที่ดินของ นายมาศ คนเที่ยง ได้ร่วมกันคิดอีกจึงเป็นอันตกลงได้ สร้างโรงเรียนขึ้นมา แต่ยังไม่สำเร็จยังขาดฝากั้น จึงได้มีคณะนักศึกษาอาสาพัฒนาจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาสร้างอาคารให้เป็นอาคารถาวร แบบ ป 1ก. จำนวน 3 ห้องเรียน ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาหลายฝ่าย เป็นเงินค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 80,000 บาท โดยไม่มีงบประมาณของทางราชการ อาคารหลังนี้ได้สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของหลายฝ่าย คือ คณะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เยาวชนอาสาสมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน การจัดสร้างอาคารเรียนนี้ ได้มีบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญคือ นายมาศ คนเที่ยง ได้บริจาค ที่ดิน 6 ไร่เศษ คิดเป็นเงิน 4,000 บาท นายประสิทธิ์ คงมีสุข นายประกิต รัตตมณี และนายรื่น มากนคร ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งในการจัดตั้งโรงเรียน โรงเรียนได้เปิดทำการเรียนการสอน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 เวลา 10.00 น. ตรงกับขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด ในการเปิดเรียนนั้น มีเด็กเข้าศึกษาเล่าเรียน ทั้งที่เกณฑ์เข้าใหม่ และย้ายมาจากโรงเรียนอื่น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 4 รวมทั้งสิ้น 34 คน มีนายมางก์ ศรีสมัย เป็นครูใหญ่และเป็นครูเพียงคนเดียวในโรงเรียน ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหัวหินจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับประถมศึกษา
วิสัยทัศน์ (VISION)
นักเรียนมีคุณภาพตามวัย ก้าวไกลทางวิชาการ สถานศึกษาน่าอยู่ พัฒนาคู่ชุมชน
บุคลากรทุกคนพัฒนาตนสู่มืออาชีพ
พันธกิจ ( MISSION)
1. จัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวัยและผู้เรียนมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา
2. พัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการจัดการศึกษา โดยความร่วมมือของชุมชน
3. เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้
คำขวัญ
“ประพฤติดี มีวินัย ใฝ่ศึกษา”
โครงสร้างการบริหารงาน
โรงเรียนบ้านหัวหินจัดโครงสร้างการบริหารงาน โดยแบ่งออกเป็น 4 งาน ได้แก่ งานบริหารทั่วไป งานบริหารบุคลากร งานบริหารงบประมาณและงานวิชาการ โดยได้มีการแต่งตั้งให้ครูรับผิดชอบทุกงาน นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน ร่วมกำหนดแผนพัฒนาโรงเรียน ดังแผนภูมิ
สภาพชุมชนโดยรวม
1) สภาพชุมชนรอบบริเวณโรงเรียนมีลักษณะเป็นพื้นราบ โรงเรียนมีเขตบริการประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 6, 8 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ชุมชนในเขตบริการอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ หาดหัวหิน และหาดคลองสน ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงาม ชายหาดและน้ำสะอาด
2) ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง และรับจ้าง ฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนโดยรวมอยู่ในระดับยากจน
3) ประชากรส่วนใหญ่ในเขตบริการ นับถือศาสนา 2 ศาสนา ดังนี้ ศาสนาพุทธ จำนวน 62 ครอบครัว ศาสนาอิสลาม จำนวน 165 ครอบครัว ศาสนสถาน มีมัสยิด 1 แห่ง
4) ผู้ปกครองส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6
5) โอกาสและข้อจำกัดของโรงเรียน โรงเรียนบ้านหัวหินประกอบด้วยเขตบริการ 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ 6, 8 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ชุมชนในเขตบริการอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน มีแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญคือ ป่าชายเลน มัสยิด แหล่งผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (จักสานเตยปาหนัน) ยังไม่ได้พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นระบบ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้โดยสภาพจริง ผู้ปกครองและชุมชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นอย่างดี
ข้อจำกัดของโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลทำให้สาธารณูปโภคบางอย่างไม่สะดวก เช่น น้ำประปา โทรศัพท์ซึ่งสัญญาณไม่ดีทำให้การเรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ตของนักเรียนขาดความคล่องตัว นอกจากนั้นแล้วขาดครูผู้สอนในวิชาเอกเฉพาะ เช่น ภาษาอังกฤษ ศิลปะ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย
โครงสร้างหลักสูตร
โรงเรียนบ้านหัวหิน จัดสอนตามหลักสูตรสถานศึกษา หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ได้ดำเนินการสอนทั้งสองช่วงชั้น ได้แก่ ช่วงชั้นที่1 (ป.1 - ป.3) และช่วงชั้นที่สอง (ป.4 - ป.6) โครงสร้างหลักสูตร ดังนี้
ข้อมูลนักเรียน
ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนบ้านหัวหิน ได้จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 8 ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งหมด 135 คน (ข้อมูล 10 มิถุนายน 2552) มีรายละเอียดดังนี้
ข้อมูลบุคลากร
รายละเอียดเกี่ยวกับผู้บริหาร ครู และบุคลากร มีดังนี้
1. ผู้บริหาร ชื่อ นายมางก์ ศรีสมัย วุฒิทางการศึกษาสูงสุด ปริญญาตรี สาขา การบริหารการศึกษา ดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน
2. จำนวนบุคลากรในโรงเรียน มีรายละเอียดดังตาราง (ข้อมูล 10 พฤศจิกายน 2552)
3. ครูสอนวิชาตรงตามวิชาเอก จำนวน 3 คน (คิดเป็นร้อยละ 37.50)
ครูสอนวิชาตรงความถนัด จำนวน 5 คน (คิดเป็นร้อยละ 62.50)
ข้อมูลทรัพยากร
โรงเรียนมีอาคารสถานที่เพื่อดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาดังนี้
อาคารเรียน จำนวน 3 หลัง 8 ห้องเรียน
อาคารประกอบ จำนวน 5 หลัง ได้แก่
- อาคารอเนกประสงค์ 1 หลัง
- ห้องน้ำห้องส้วม 1 หลัง (4 ที่)
- ที่ปัสสาวะชาย 1 ที่
- ศูนย์วิชาการ 1 หลัง
- ห้องพยาบาล 1 ห้อง
- ห้องสหกรณ์ 1 ห้อง
สถานที่จัดกิจกรรม
- สนามเด็กเล่น
- สนามกีฬา ได้แก่ สนามฟุตบอล สนามวอลเลย์บอล และสนามเซปัคตะกร้อ
- แปลงปลูกผักสวนครัว
- แปลงเตยปาหนัน
- เรือนเพาะชำ
- เตาเผาขยะ
- แปลงสมุนไพร
- สวนคณิตศาสตร์
ข้อมูลด้านแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ปราชญ์ชาวบ้าน / ภูมิปัญญาท้องถิ่น / ผู้ทรงคุณวุฒิที่สถานศึกษาเชิญมาให้ความรู้แก่ครูและนักเรียน ในปีการศึกษานี้ ได้แก่
1. นางบุหลัน หยีหาสัน ให้ความรู้เรื่องการจักสานเตยปาหนัน
2. นางนุชรี รักสะอาด ให้ความรู้เรื่องการจักสานเตยปาหนัน
3. นางบุอะ หยีหาสัน ให้ความรู้เรื่องการจักสานเตยปาหนัน
4. นายดำ หยีหาสัน ให้ความรู้เรื่องการดูแล การตัดเตยปาหนัน
5. นายเพิง รำภา ให้ความรู้เรื่องดนตรีของลิเกป่า
6. นางอนงค์ ช่วยทุกข์เพื่อน ให้ความรู้เรื่องการร่ายรำและการขับบทละครผู้หญิงของ
ลิเกป่า
7. นางเพี้ยน พูลผล ให้ความรู้เรื่องการขับบทละครผู้ชาย ตัวแสดงชายของลิเกป่า
สภาพปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนา
1. ปัญหาการจัดระบบสารสนเทศในโรงเรียนมีข้อมูลสารสนเทศไม่เพียงพอหรือให้ข้อมูลไม่ทันต่อการใช้งาน และปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ บุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดระบบสารสนเทศ
2. ปัญหาขาดบุคลากรทำหน้าที่จัดระบบสารสนเทศโดยเฉพาะ งบประมาณด้านวัสดุครุภัณฑ์ในการจัดซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศไม่เพียงพอ เทคโนโลยีสื่อสารส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์และไม่มีเครือข่ายข้อมูลสำหรับเชื่อมโยงการใช้ข้อมูลสารสนเทศภายในโรงเรียน การใช้ข้อมูลทาง internet ส่วนใหญ่มีการใช้ข้อมูลสารสนเทศในการวางแผนและการตัดสินใจในงานวิชาการ ปัญหาที่สำคัญของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ คือ ขาดงบประมาณและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ขาดวัสดุอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนมีความคิดเห็นว่า มีความต้องการสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างมาก
3. บุคลากรในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นครูสายปฏิบัติการสอน มีความรู้เฉพาะในเนื้อหาที่ตนสอน ไม่เคยผ่านการอบรมในด้านเทคนิคและวิธีวิเคราะห์ระบบสารสนเทศมาก่อน เมื่อผู้บริหารต้องการเก็บข้อมูลก็มอบหมายให้ครู-อาจารย์ดังกล่าวดำเนินการ จึงทำให้ผลปฏิบัติงานไม่ดีเท่าที่ควร สารสนเทศที่ผลิตได้จากระบบไม่สนองวัตถุประสงค์ของโรงเรียน
นางสาววันดี โต๊ะดำ (ผู้ให้ข้อมูล)