ไม่เคยลืม...พระคุณ...ครูอาจารย์
ยังกราบกราน...ระลึก...ไม่ห่างหาย
ดุจพ่อแม่...คนที่สอง...ของเรือนกาย
สุกทุกข์ท้อ...แพ้พ่าย...ใจยังเตือน
ด้วยคำสอน...คำสั่ง...ที่ครูมอบ
เป็นสิ่งชอบ...ของใจ...ไม่ร้างเลื่อน
ยังประพฤติ...ปฏิบัติ...ไม่แชเชือน
หวังจะเหมือน..ดั่งครูู...ผู้แนวทาง
ขอกราบครู...ผู้สอน...ศิษย์ทั้งหลาย
ทั้งหญิงชาย...ขอให้...ไม่หม่นหมาง
ให้คุณพระ...คุ้มครอง...ไม่ปล่อยวาง
ทุกก้าวย่าง...ขอให้...ครููร่มเย็น
ครูเปรียบเหมือน..เรือจ้าง..ที่หมั่นสู้
เฝ้าแลดู..ลูกศิษย์..ให้ถึงฝั่ง
ศิษย์บางคน..ดื้อรั้น..ไม่เชื่อฟัง
ครูก็ยัง..ดึงรั้ง..ให้สิทธิ์ดี
ด้วยดวงใจ..อุทิศ..ไม่คิดหนี
ทนตรากตรำ..พร่ำบ่น..จนได้ดี
พานพุ่มนี้..ขอมอบ..ให้แด่ครู
พานพุ่มนี้..ขอมอบ..ให้แด่ครู
เหมือนเรือจ้าง ลำน้อย ที่ลอยล่อง
คอยจดจ้อง รับเรา เข้าถึงฝั่ง
เรื่องมากมาย สอนเห็น เป็นจีรัง
เพียงคิดหวัง ให้เรา ก้าวทางดี
ด้วยเงินเดือน น้อยนิด ยังคิดสู้
มอบความรู้ ยิ่งใหญ่ ในศักดิ์ศรี
เรื่องยากง่าย หนักหนา ประดามี
ทางถูกชี้ ทางผิดห้าม ไม่ตามใจ
เหล่าลูกหลาน นักเรียน ที่เพียรสอน
ไม่เคยอ่อน ระอา ว่าเสียหาย
ใช้คำหวาน สอนเจ้า ให้เข้าใจ
เพื่อเติบใหญ่ เจ้าจะได้ ไปสู่ดี
จะแก้วแก่น แล่นตึง ทะลึ่งโลด
ครูไม่โกรธ ขับไล่ ให้อายหนี
เฝ้าพร่ำสอน ให้ทำ ย้ำความดี
อาจจะตี กันได้ ถ้าไม่จำ
หลายหมื่นพัน เรียนครบ จบศึกษา
ต่างก้าวหน้า ชั่วไม่ไปถลำ
เรือจ้างน้อย เคว้งคว้าง กลางลำนำ
ล่องลอยน้ำ รอคนใหม่ ให้ขึ้นมา
ถึงวันนี้ เรือบางลำ กลางน้ำใหญ่
หมดแรงไป รับเจ้า เข้าศึกษา
เรือผุกร่อน ตามวาร กาลเวลา
ทางเดินหน้า เรือน้อย คือ..ค่อยค่อยจม
ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน; ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ
วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง” จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันครู
แหล่งอ้างอิง
http://www.zabzaa.com/poem/view.asp?gid=546
http://www.krubanok.com
แหล่งอ้างอิง
http://www.zabzaa.com/poem/view.asp?gid=546
http://www.krubanok.com
No comments:
Post a Comment